ปันกัน | สังคมแห่งการแบ่งปัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์

บริจาค “ของเล่น” ส่งต่อยังไงให้ปลอดภัย

ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือเป็นวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากค้นพบว่า “ของเล่น” ที่เล่นมาตั้งแต่เด็กกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นที่จะเก็บไว้นักในขณะนี้ จะเอาไปไว้ในตู้หรือชั้นเก็บของก็อาจจะไม่มีที่เก็บ จะเอาไปทิ้งเฉยๆ ก็เสียดาย จะเอาไปขายต่อก็ไม่มีเวลา หรือจะเอาไปให้เพื่อนก็อาจจะมีลูกโตกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับของเล่นแบบมีประโยชน์ก็คงไม่พ้นการบริจาค

ก่อนจะบริจาคของเล่น อย่างแรกที่ต้องทำก็คือตั้งธงไว้เลยว่า “ให้ของเล่นแก่เด็กคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็จะต้องทำเหมือนมอบของเล่นให้กับลูกหรือหลาน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน” เช่น วัสดุที่ใช้ผลิตของเล่นจะต้องไม่ทำจากสารตะกั่วหรือสารอันตรายอื่นๆ

ขั้นตอนแรก คือ ดูสภาพความเรียบร้อยของของเล่น ยิ่งของที่มีอายุมากก็ยิ่งต้องดูถึงสภาพความปลอดภัยโดยรวมให้มาก เช่น มีชิ้นส่วนที่หักแล้วมีมุมแหลมคมอันอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ หรือตุ๊กตาอาจจะมีส่วนที่หลุดได้แล้วเด็กสามารถดึงเอามาใส่เข้าปากได้หรือเปล่า มีสีที่หลุดลอกออกมาบ้างไหม หากพบว่ามีส่วนที่ชำรุดก็ต้องทำการซ่อมแซมครับ แต่ถ้าหากว่าซ่อมแซมไม่ได้ก็อาจจะจำเป็นจะต้องทิ้งไป เพราะคงจะไม่เหมาะกับการบริจาคสักเท่าไหร่ 

ขั้นตอนที่สอง เมื่อได้ของเล่นที่สภาพดีแล้ว ก็ต่อด้วยการทำความสะอาด ถ้าเป็นตุ๊กตาก็ต้องเอาไปซัก ถ้าเป็นของเล่นไม้หรือพลาสติก ต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์หนึ่งรอบ แล้วก็ตามด้วยการล้างน้ำเปล่าอีกสักรอบ หรือจะมากกว่านั้นก็ได้ จนกว่าจะรู้สึกแน่ใจว่าของเล่นสะอาดเอี่ยมเป็นที่น่าพอใจแล้ว 

ขั้นตอนที่สาม คือ การแยกประเภทของเล่นว่าเหมาะกับช่วงอายุเท่าไหร่ ถ้าหากยังเก็บใส่กล่องดั้งเดิมไว้ก็ดูจากข้างกล่องได้ หรือถ้าไม่มีกล่องแล้วก็อาจจะเทียบเอากับของเล่นที่หน้าตาคล้ายๆ กัน ที่ต้องเช็คอายุที่เหมาะกับของเล่นก่อนก็เพราะว่าเมื่อถึงเวลาที่บริจาค ก็จะระบุได้อย่างชัดเจนว่าของเล่นอันนี้เหมาะกับวัยไหน เราอาจจะทำกล่องหรือหากล่องขึ้นมาใหม่แล้วเขียนตัวหนังสือกำกับไว้บนกล่องชัดเจนก็ได้ว่า ของเล่นเหล่านี้เหมาะสำหรับเด็ก 3-5 ขวบ จะช่วยให้ของเล่นไปถึงมือของเด็กที่เหมาะสมกับของเล่นนั้นๆ ได้อย่างง่ายดายขึ้น 

หรืออาจจะทำให้ละเอียดกว่านั้น โดยการแยกตามลักษณะของของเล่นได้ด้วยยิ่งดี เช่น ของเล่นนี้ส่งเสริมการใช้ทักษะด้านศิลปะแบบพวกตัวต่อ หรือเป็นของเล่นให้เล่นสนุกเฉยๆ แบบหุ่นยนต์หรือหุ่นไดโนเสาร์ ผู้ที่สนใจอยากได้ของเล่นไปให้ลูกหรือหลานก็จะได้รู้ว่า ของเล่นนั้นเหมาะกับที่กำลังตามหาอยู่หรือไม่

การบริจาคของเล่นไม่ว่าจะเป็นของเล่นที่เน้นความสนุกสนานสร้างจินตนาการอย่างตุ๊กตุ่นหุ่นรบหรือของที่ฝึกทักษะอย่างเครื่องดนตรีเล็กๆล้วนมีประโยชน์ต่อเด็กๆด้วยกันทั้งสิ้น เด็กไม่ได้ต้องการเพียงการเรียนรู้เพื่อที่จะเติบโตอย่างมีปัญญาเท่านั้นแต่ยังต้องการที่จะเพาะบ่มซึ่งจินตนาการที่จะเป็นตัวช่วยในการผลักดันชีวิตของเราให้ดำเนินไปด้วยความสร้างสรรค์และมีความฝันที่สวยงามต่อไปในอนาคต

บทความ : ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล

รูปภาพ : www.pexels.com