ไหนใครเป็นมนุษย์สายเทคโนโลยี เห็น Gadget ดีไซน์สวย ฟังก์ชันดีเป็นไม่ได้ รุ่นใหม่ออกมาปุ๊บต้องซื้อปั๊ป หรือต่อให้ต้องจองคิวนานเป็นเดือนก็รอได้เพราะของมันต้องมี พอได้ของชิ้นใหม่มาใช้ หลายคนอาจละเลยของชิ้นเก่าที่อยู่กับเรามานาน ไม่ได้หยิบมาใช้บ่อย ๆ จนกลายเป็นเลิกใช้ไปโดยปริยาย แล้วก็วนลูปเดิมแบบนี้ทุกครั้งเมื่อมีของชิ้นใหม่ออกมาเรื่อย ๆ จนหลงลืมไปว่า ของชิ้นเก่าเหล่านั้นไม่ใช่แค่ของเก่าเก็บ แต่มีอันตรายกว่าที่คิด
อันตรายที่ว่านี้เรียกว่า ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ (E-Waste) ซึ่งก็คือของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หากพูดให้เข้าใจง่ายก็คือสิ่งของจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชำรุด เสียหาย หรือไม่ได้ใช้งานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเลต คอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น ไมโครเวฟ ไดร์เป่าผม ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน และเพราะของบางอย่างยังอยู่ในสภาพดีหรือยังเปิดใช้งานได้ตามปกติ จะทิ้งก็เสียดาย แต่ให้นำกลับมาใช้อีกครั้งก็ตกยุคไปซะแล้ว หลายคนเลยเลือกปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น จนกองซากของเก่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ กินพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านให้หายไปส่วนหนึ่งเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่รกบ้านเท่านั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าซากของเก่าเหล่านี้อันตรายกว่าที่คิด เพราะมันอาจปล่อยสารเคมีบางอย่างที่เราอาจมองไม่เห็น เช่น ปรอท ตะกั่ว สารหนู และอีกมากมายผ่านการสัมผัส สูดดม หรือปนเปื้อนมาในอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งจะเป็นตัวการสำคัญในการทำลายสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัว และหากสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานอาจมีอันตรายถึงชีวิต
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เราขอยกข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556-2559 นั้น ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉลี่ย 380,605 ตัน/ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.8 ของจำนวนขยะอันตรายทั้งหมดในชุมชน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% ต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปอีกแน่นอน คำถามคือ แล้วเราต้องทำอย่างไรล่ะถึงจะลดปริมาณขยะอันตรายเหล่านั้นได้
เพราะคำถามสำคัญกว่าคำตอบ หากถามว่าทำอย่างไรให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลดลง เรามาตั้งต้นถึงสาเหตุกันก่อนว่าที่ขยะมีจำนวนมากเกิดจากอะไร ถ้าเราชอบซื้อของชิ้นใหม่ตลอดเวลา ทั้งที่ของเก่ายังใช้ได้อยู่ ก็ควรลดการซื้อลง รอให้ของชิ้นนั้นชำรุดหรือหมดอายุการใช้งานก่อนค่อยซื้อก็ได้ แต่ถ้าของชิ้นนั้นพังแล้ว เราควรทิ้งให้ถูกวิธี จัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าหมวดขยะอันตราย และแยกชิ้นส่วนตามวัสดุ เช่น เหล็ก สเตนเลส พลาสติก แบตเตอรี่ แผงวงจรไฟฟ้า แล้วนำไปทิ้งในจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ตั้งอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อความสะดวกต่อการกำจัด และลดการเกิดอันตรายแก่เจ้าหน้าที่คัดแยกขยะอีกด้วย
ในกรณีที่แก็ตเจตหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าของเรายังใช้งานได้ตามปกติ การบริจาคก็เป็นความคิดที่น่าสนใจ เพราะได้ส่งต่อให้กับผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งร้านปันกันก็รับบริจาคของเหล่านี้เช่นกัน โดยขอให้เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยังใช้งานได้ อยู่ในสภาพปานกลางถึงดี ซึ่งก่อนนำมาบริจาคควรทำความสะอาดเบื้องต้น และหากมีใบรับประกันสินค้าหรือคู่มือการใช้งานแนบมาด้วยถือว่าดีมาก
หากใครอยากเป็นผู้ปันเครื่องใช้ไฟฟ้าและแก็ตเจตที่ไม่ใช้แล้ว สามารถบริจาคได้ที่คลังสินค้าแบ่งปัน ซ.อ่อนนุช 90 ร้านปันกันทั้ง 15 สาขา เช็กพิกัดที่ https://pankansociety.com/pankan-branch หรือจุดตั้งกล่องรับปันทั่วประเทศ หากมีจำนวนมากสามารถใช้บริการรถปันกันให้ไปรับของถึงหน้าบ้าน ติดต่อนัดหมายได้ที่ โทร. 02 301 1096, 081 903 6639 หรือทางไลน์ @pankansociety
บทความ : จุติมา อนุสาย
รูปประกอบ CR : CHRISTOPHER DOMBRES