ปันกัน | สังคมแห่งการแบ่งปัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์

จัดบ้านไม่ให้รก(อีก)ด้วยวิธี KonMari

เคยไหมเวลาที่เราจะหาอะไรซักอย่าง หาแล้วหาอีกก็หาไม่เจอเสียที จำไม่ได้ว่าใช้ครั้งสุดท้ายแล้ววางไว้ตรงไหน? บางครั้งบางจะหาของสักชิ้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบนโต๊ะมีข้าวของกองไว้พะเนินเทินทึก ทั้งเอกสาร ทั้งกระดาษวางปนกันไปหมด ส่วนในตู้ก็เต็มไปด้วยเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ที่เก็บไว้นานจนลืม ทั้งๆที่เราเพิ่งจัดห้องไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ทำไมถึงกลับมารกอีกจนได้? 

KonMari คือชื่อของวิธีการจัดบ้าน ที่คิดค้นโดย คุณ Marie Kondo (มาริเอะ คนโด) KonMari มาจากการรวมกันของชื่อและนามสุกลของเธอเอง คุณมาริเอะ เริ่มสนใจการจัดบ้านมาตั้งแต่เด็ก ในขณะที่เพื่อนคนอื่นเล่นกีฬา ตัวเธอกลับสนใจการจัดหนังสือในห้องเรียน การจัดบ้านของคุณมาริเอะไม่เพียงแต่เป็นการจัดและเก็บเท่านั่น แต่ยังมุ่งเน้นถึงเรื่อง “การทิ้ง” ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม ไม่ใช่ทิ้งอย่างไม่มีความหมาย แต่เป็นการทิ้งที่มาพร้อมกับการพิจารณาว่าสิ่งของชิ้นนั้นยังคง  “Spark Joy” กับเราอยู่หรือเปล่า?  ถ้าหากเราแปลตรงตัว Spark คือ การจุดประกาย Joy คือ ความสุข เพราะฉะนั้นตามวิธีการจัดบ้าน KonMari คือการพิจารณาว่าสิ่งของชิ้นนั้นสามารุจุดประกายความสุขให้กับเราได้ไหม

คุณมาริเอะกล่าวว่า
“การจัดบ้านตามวิธีของเธอ ต่างจากสไตล์ Minimalist (การจัดบ้านที่เน้นของน้อย ใช้ความเรียบง่าย ตัดของที่ไม่จำเป็น) ด้วยวิธี KonMari จะทำให้เราได้อยู่ท่ามกลางสิ่งที่เรามีความสุขจริงๆ”

ความรักที่เธอมีต่อการจัดของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยของคุณมาริเอะ ส่งผลให้เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลจากการจัดอันดับของนิตยสารไทมส์ในปี 2015 หนังสือการจัดบ้านของคุณมาริเอะได้ตีพิมพ์และขายหลายล้านฉบับ หนังสือได้ถูกแปลหลายภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาเกาหลี, จีน, อีตาลี, เยอรมัน, สวีเดน หรือแม้กระทั่งภาษาโปรตุเกส รวมไปถึงภาษาไทย โดยมีชื่อว่า “ชีวิตดีขึ้นในทุกๆด้านด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว”  อีกทั้งเธอยังได้รับเชิญให้บรรยายกับ Talk at Google รวมไปถึงการได้ออกซีรีย์เกี่ยวกับการจัดบ้านบน Netflix อีกด้วย

การจัดระเบียบบ้านตามทฤษฎี KonMari สามารถนำมาประยุกต์ได้กับทุกคนที่ต้องการจัดระเบียบบ้านจากทฤษฎีของคุณมาริเอะที่ได้อธิบายบนเว็บไซต์ของเธอ สามารถแบ่งได้เป็นหลักการจัดบ้านหลักๆ 6 ขั้นตอนดังนี้

1.) ให้คำมั่นสัญญากับตัวเองที่จะจัดบ้าน และหาทางที่จะไม่ใช้เวลากับความพยายามที่มากจนเกินไป เพราะว่าถ้าหากเชื่อมั่นว่าเราสามารถจัดบ้านได้แน่ๆ เราก็จะมีพลังและแรงบันดาลใจในการจัดบ้านด้วยตัวเอง สามารถจัดการให้เสร็จภายในครั้งเดียว โดยไม่ต้องฝืนเค้นความพยายามเพื่อที่จะจัดบ้าน

2.) คิดถึงวิถีชีวิตที่เราอยากเป็น  ด้วยวิธีการนี้ ทำให้ลูกค้าหลายคนของคุณมาริเอะประสบความสำเร็จในการจัดบ้านมาอย่างนับไม่ถ้วน คุณมาริเอะให้ลูกค้านึกภาพ และอธิบายออกมาเลยว่าอยากเห็นตนเองใช้ชีวิตแบบไหน หรือหากใครถนัดเขียนมากกว่า ก็สามารถเขียนลงไปในสมุดและติดรูปภาพจากนิตยสารเพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น เพราะเมื่อเรามีภาพที่ชัดเจนว่าอยากมีชีวิตในอุดมคติแบบไหน สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมเราถึงต้องการการจัดระเบียบ 

3.) เริ่มต้นได้ด้วยการทิ้ง จะทำให้เรารู้ว่าสิ่งไหนควรเก็บไว้ เราต้องการของชิ้นนี้มากเท่าไหร่ ขั้นตอนนี้ ไม่ใช่เป็นการทิ้งแล้วทิ้งเลย แต่มาพร้อมกับหลักการ Spark joy กระบวนการนี้จะช่วยให้เราเรียนรู้อดีตและเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากของใครหลายๆคน เพราะของบางสิ่งที่เราอาจจะต้องทิ้งนั้นมีค่าต่อจิตใจ 

4.) เริ่มจัดของตามหมวดหมู่ ไม่ใช่ตามห้อง นั่นก็เพราะว่าคนทั่วไปมักจะมีของซ้ำๆหรือคล้ายๆกันวางไว้มากกว่า 1 ที่ ทำให้เวลาเราจัดบ้าน เราก็จะเริ่มกระบวนการนับ 1 ใหม่เพื่อที่จะจัดของซ้ำซากเหล่านี้ในแต่ละห้อง ยกตัวอย่างเช่น เรามีหนังสือในห้องนั่งเล่น, ห้องนอน, ห้องน้ำ ถ้าหากเราจัดของทีละห้อง เราจะต้องจัดการกับหนังสือพวกนี้ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ทำให้การจัดบ้านเป็นงานที่ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากหนังสือการจัดบ้านของคุณมาริเอะ เธอแนะนำให้เอาของทั้งหมดที่เป็นประเภทเดียว (ในที่นี้คือหนังสือ) มากองรวมกันในที่เดียว จะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าเรามีของเหล่านี้มากขนาดไหน ให้หยิบของชิ้นนั้นมาและถามว่ามันยัง Spark joy หรือยังจุดประกายความสุขให้เราได้หรือไม่? 

5.) เริ่มจัดบ้านตามหมวดหมู่สิ่งของต่อไปนี้คือ เสื้อผ้า หนังสือ  เอกสาร  ของจิปาถะ  ของที่มีคุณค่าทางจิตใจ เหตุผลที่คุณมาริเอะแนะนำตามลำดับแบบนี้เพราะเสื้อผ้าคือหมวดที่เราสามารถตัดใจทิ้งได้ง่ายที่สุด ส่วนของที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจเช่นรูปถ่าย ถือได้ว่าเป็นงานที่ทดสอบความแข็งแกร่งของจิตใจได้ดีทีเดียว แต่ถ้าหากเราสามารถก้าวผ่านด่านหินนี้ไปได้ การตัดสินใจในเรื่องอื่นๆก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

6.) ถามตัวเองว่าของชิ้นนั้นมันยังจุดประกายความสุขให้เราหรือเปล่า? ตัวเราเท่านั้นทีจะรู้ได้ว่าสภาพแวดล้อมแบบไหนที่จะทำให้เรามีความสุข ความสุขคือใจความสำคัญที่ทำให้ทฤษฎี KonMari ต่างจากศาสตร์การจัดบ้านอื่นๆ 

หลักการง่ายๆ เพื่อพิจารณาว่าเรายังต้องการของชิ้นนั้นหรือไม่ คือการหยิบของชิ้นนั้นขึ้นมา และถามกับตัวเราว่า “สิ่งนี้จุดประกายความสุขให้เราได้ไหม?” เราอาจจะใช้เวลาซักพักเพื่อฟังเสียงตอบสนองจากร่างกายของเรา

การจัดระเบียบบ้าน ไม่ได้ส่งผลให้บ้านน่าอยู่เพียงเท่านั้น แต่ยังถือได้ว่าเป็นการจัดระเบียบชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการจัดระเบียบความคิดของตัวเอง สามารถจัดลำดับความสัมพันธ์ให้เป็นขั้นตอน การจัดบ้านยังทำให้เราได้ใช้เวลาให้กับตัวเอง เพราะเราจะใช้เวลาไตร่ตรองว่าสิ่งไหนที่จำเป็นกับชีวิตของเราจริงๆ ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะมีคุณค่าทางจิตใจก็ตาม แต่หากพิจารณาดีแล้ว เราจะพบว่าความทรงจำดีๆเหล่านั้นอยู่กับตัวเรา ไม่ใช่สิ่งของ แต่หากใคร่ครวญดีแล้วว่าของสิ่งนั้นจำเป็นที่จะต้องมีจริงๆ คุณมาริเอะก็แนะนำว่าควรเก็บใส่กล่องเอาไว้  เพื่อเป็นการทบทวนตัวเองว่าสิ่งของทั้งหมดนั้นคือของที่เราเลือกมาแล้วว่าทำให้เราเกิดความสุข

ได้ทริคดีๆแบบนี้แล้ว สิ่งของชิ้นไหนที่ยังไม่ Spark Joy และยังอยู่ในสภาพดี ใช้งานต่อได้ นำมาบริจาคที่ร้านปันกัน เพื่อเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาให้กับน้องๆที่ขาดโอกาส ใน มูลนิธิยุวพัฒน์กัน

แหล่งอ้างอิง

https://konmari.com/ เนื้อหาและรูปภาพ
https://www.youtube.com/watch?v=YAWiS7MyD6I หนังสือเสียง ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว Ep.1-3
https://www.youtube.com/watch?v=NBrMXj7RVao หนังสือเสียง ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว Ep.2-3
https://www.youtube.com/watch?v=sh7X2xFcOaE หนังสือเสียง ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว Ep.3-3

เรื่อง : ศิริพรรณ รัตนะอำพร