ภัยเงียบ! เอะอะก็เสียดาย สุดท้ายอาจเข้าข่ายกลายเป็นโรค Hoarding Disorder

เคยไหมว่าวันนี้ สมาชิกในบ้านตั้งใจจะเก็บบ้านอย่างจริงจังเสียที แต่พอถึงเวลานั่งลงคัดแยกของทำไมกลายเป็นทิ้งอะไรไม่ได้มาก หรือสุดท้ายก็กลับไปเก็บเหมือนเดิม นั่งทะเลาะกันอยู่นานระหว่าง “ทีมเก็บ” กับ “ทีมทิ้ง

Hoarding Disorder เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดใหม่ พบได้ทั่วไป 2-5 เปอร์เซ็นต์ ทางการแพทย์อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าเข้าข่ายเป็นโรคชอบเก็บและสะสมสิ่งของ Hoarding Disorder มีอาการที่ชัดเจนตรงที่อยากเก็บข้าวของทุกชิ้นเอาไว้ ตัดใจทิ้งไม่ลงสักอย่าง ไม่เพียงแค่ทิ้งไม่ลง แต่คิดด้วยว่าสักวันหนึ่งของที่เก็บเหล่านั้นจะมีประโยชน์หรือได้ใช้ในอนาคต ทว่าสุดท้ายก็เก็บจนรกบ้านช่องห้องหอไม่มีพื้นที่แม้แต่จะเดิน  

อาการของความผิดปกติที่เรียกว่า Hoarding Disorder ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น แต่อาการนี้ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานมาก เริ่มเป็นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  ตัวชี้วัดอีกอย่างคือข้าวของที่รกรุงรังและจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่เพียงแค่โรคแต่หมายถึงสุขภาพที่ย่ำแย่และอุบัติเหตุ

เพราะการเก็บสิ่งของไว้เยอะๆ หมักหมมสุ่มอยู่ บวกกับความชื้นในห้องมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส นอกจากนี้ ข้าวของที่ระเกะระกะอยู่ตามพื้นยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย มิหนำซ้ำ หากคนรอบข้างไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่านี่คืออาการของโรคอย่างหนึ่ง อาจหนักข้อกลายเป็นมานั่งทะเลาะเบาะแว้ง หรือมีปากเสียงกับคนที่เอาข้าวของไปทิ้งโดยไม่บอกกล่าวเลยก็ได้

ถ้าเขาข่าย Hoarding Disorder และอาการหนักถึงขั้นบ้านไม่มีแม้แต่ทางเดิน หรือบ้านเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ค่อยๆ ตะล่อมรีบพาคนไข้ไปหาหมอดีกว่า จิตแพทย์คือฮีโร่ที่จะช่วยได้ดีที่สุด หมออาจใช้วิธีบำบัดพฤติกรรมและความคิด หรือรักษาด้วยยา 

แต่ถ้าหากคุณอยากเกลี้ยกล่อมเขาดูสักตั้ง ก่อนอื่นก็คงต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจในความเป็นโรคชอบสะสมสิ่งของนี้เสียก่อน สิ่งของที่หมักหมมอยู่นั้นอาจไม่ใช่แค่สิ่งของธรรมดา แต่อาจเป็นความทรงจำของเขา หรือของบางชิ้นอาจที่มีที่มาที่ไป กระทั่งมีเรื่องราวซ่อนอยู่ 

เมื่อคุณเข้าไปในโลกของคนที่เป็นโรคนี้ได้แล้ว ลองเริ่มชักชวนเขาคัดแยกสิ่งของให้เป็นหมวดหมู่  และเทคนิคที่โด่งดังในการคัดและจัดแยกสิ่งของในบ้านคือเทคนิคการจัดบ้านแบบคมมาริ (Konmari) เจ้าของแนวคิดนี้เกิดขึ้นโดย Marie Kondo เจ้าของหนังสืออันโด่งดังชื่อ ‘The Life- Changing Magic of Tidying up’ เทคนิกคมมาริเป็นการจัดเก็บข้าวของที่เน้นการคัดแยกสิ่งของว่าสิ่งไหนจะเก็บไว้ และสิ่งไหนที่ต้องทิ้งไป พร้อมกับการชวนให้ฝึกคิดทบทวนตัวเอง สร้างทัศนคติใหม่ ๆ ในการลด ละ เลิก พฤติกรรมแบบเดิมที่ทำให้เกิดปัญหา คุณและเขาอาจนั่งลงและแบ่งข้าวของให้เป็นหมวดหมู่ ได้แก่ กองเสื้อผ้า กองหนังสือ กองเอกสาร และของจิปาถะอื่น ๆ โดยหมวดหมู่ที่เข้าข่ายของที่มีคุณค่าทางจิตใจจะทำการดูแลมันเป็นลำดับท้ายๆ  และควรเลือกจัดให้เสร็จไปทีละหมวดหมู่

แม้ว่าจะอาจตัดใจทิ้งได้ยากลำบาก แต่สิ่งที่จะมาตัดสินว่าสิ่งไหนควรทิ้ง สิ่งไหนควรยังอยู่คือเมื่อหยิบขึ้นมาแล้วสิ่งนั้นทำให้มีความสุขหรือไม่ หากชิ้นไหนหยิบขึ้นมาแล้วจุดประกายความสุขแบบที่ในหนังสือบอกว่า Spark Joy ก็เก็บไว้ แต่ถ้า “ไม่” ก็จัดการทิ้งเสีย  แม้ว่าข้าวของหมวดหมู่ที่ทรงคุณค่าต่อจิตใจจะตัดใจทิ้งยากหน่อย หรือรู้สึกลังเลเสียดายจนทิ้งไม่ลงบ้าง แต่เมื่อฝึกแบ่ง แยกแยะ และค่อยๆ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้ง นานเข้าต่อมแยกแยะว่าของชิ้นไหน Spark Joy จริงๆ หรือไม่ก็จะดีขึ้น หรืออีกวิธีที่จะช่วยให้ความรู้สึกของการทิ้งนั้นยังไม่ได้หายไปเสียทั้งหมด คือ การนำสิ่งของที่คัดออกและไม่ Spark Joy นั้นไปหย่อนลงในกล่องรับบริจาคตามสถานที่รับบริจาคทั้งหลาย ไม่ว่าจะรับบริจาคเสื้อผ้า รับ บริจาคหนังสือ บริจาคสิ่งของเหลือใช้ เป็นต้น ก็จะช่วยลดปริมาณข้าวของลงได้โดยที่ยังมีความรู้สึกว่าสิ่งของยังอยู่ และเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวจิตหัวใจ 

การแบ่งแยกหมวดหมู่สิ่งของเป็นหนึ่งเทคนิกที่ช่วยลดปริมาณสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ และไม่แน่ว่าอาการ Hoarding Disorder อาจหายไปพร้อมๆ กับของที่ไม่ Spark Joy  ก็ได้ แบบนี้เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัวเลย 🙂

บทความ : รินณพัชญ์ คงสุขศรีภัสร์

ภาพประกอบ : 9NEWS จากคลิป What is hoarding disorder?