“นักปันรุ่นจิ๋ว” โรงเรียนพัฒนาปัญญา สอนให้เด็กๆ มีหัวใจเพื่อคนอื่นและสุขง่ายๆ ด้วยการ “แบ่งปัน”
“หัวใจที่เต้นเพื่อคนอื่นดีกว่าหัวใจที่เต้นเพื่อตัวเอง” คำพูดนี้ไม่ได้เจอเฟซบุ๊คหรือหนังสือคำคมเล่มไหน แต่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “โรงเรียนพัฒนาปัญญา” จังหวัดอุดรธานี ครูฝน- ดร.พิมพิชญา จงเกียรติกาญจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้กล่าวเอาไว้ คำพูดสั้นๆ ประโยคนี้ได้นำทางให้โรงเรียนกลายเป็นจุดศูนย์รวมการแบ่งปัน
ปกติแล้วช่วงเวลานี้ของปีคือเวลาที่เด็กๆ ทั่วประเทศได้กลับเข้าโรงเรียน หลังปิดเทอมภาคฤดูร้อน แต่ด้วยสถานการณ์ โควิด-19 ทำให้เด็กๆ ต้องอยู่บ้านเรียนออนไลน์กันซะเป็นส่วนใหญ่ โรงเรียนพัฒนาปัญญาก็เช่นกันและเมื่อโควิดไม่มีทีท่าว่าจะจบง่ายๆ จึงเตรียมการทำอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ให้เด็กต้องอยู่บ้านโดยไม่ได้เรียนรู้อะไร นอกจากบทเรียนต่างๆ คุณครูพยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดบ้าน เคลียร์สิ่งของไม่ได้ใช้ที่ยังมีสภาพดีให้พ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนอยู่เสมอ เพื่อเด็กๆ จะได้เรียนรู้และมีกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันกับผู้ปกครอง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะได้นำสิ่งของมาร่วมปันให้ ร้านปันกันโดย มูลนิธิยุวพัฒน์ ที่มีกล่องรับบริจาคกระจายไปยังโรงเรียนในเครืออีก 2 โรงเรียน เหมือนที่พวกเขาทำมาตลอด
“เด็กๆ ถูกสอนให้รู้จักคุณค่าของทุกสิ่ง เพราะวันหนึ่งเมื่อต้องนำมาบริจาค สภาพของใช้เหล่านั้นจะยังสภาพเหมือนใหม่ สร้างความประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ผู้ปกครองเห็นแบบนี้ก็ส่งเสริม บางบ้านเวลาจะซื้อของเล่นให้ลูก จะตกลงกันก่อนว่าจะแบ่งของเล่นหรือสิ่งของชิ้นไหนไปบริจาค ทำให้เด็กๆ เข้าใจการแบ่งปันและไม่ยึดติด” ครูฝน อธิบาย
ภาพของบรรดา “นักปันตัวน้อย” หอบหิ้วสิ่งของ เสื้อผ้า ตุ๊กตา ของเล่น สิ่งของเครื่องใช้สภาพดีที่ตั้งใจคัดสรรจากบ้านมาบริจาค รุ่นพี่รุ่นน้องร่วมแรงร่วมใจช่วยกันขนกล่องบริจาคเพื่อส่งต่อไปยังจุดหมาย เป็นภาพที่น่ารักและสร้างรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็นอยู่เสมอ
ครูฝนเล่าว่า ทุกครั้งที่เด็กๆ เอาของมาบริจาคคุณครูจะปรบมือให้ เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกภูมิใจ เหมือนเป็น “ฮีโร่” ด้วยการแบ่งปันง่ายๆ ซึ่งตรงกับ Core Value ของเครือโรงเรียน ที่เน้นพัฒนาความเป็นมนุษย์และศักยภาพของผู้เรียนอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สอนให้นักเรียนมีทักษะการใช้ชีวิต พึ่งพาตนเองได้ มีจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่นและพัฒนาสังคม เพราะเมื่อพวกเขาเรียนจบไปแล้วจะได้รู้จักตัวเอง มีทักษะแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ ที่สำคัญเพื่อหล่อหลอมจิตใจเพราะเชื่อว่าเด็กคือ “เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา “
เมล็ดพันธุ์ที่ครูฝนบอกเกิดขึ้นจริงๆ เห็นได้จากการรวมตัวของนักเรียนชั้นป.4 ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มที่มีชื่อว่า “บุญรักษา” มีวิธีสร้างความสุขด้วยการส่งต่อสิ่งของทั้งในรูปแบบของการขายและการบริจาคอยู่เป็นประจำ เมื่อได้เงินมาก็จะนำเข้ากองทุน ไว้ใช้สำหรับทำประโยชน์ เช่น ซื้ออุปกรณ์มาประดิษฐ์หมวกผ้าส่งต่อให้กับผู้ป่วยมะเร็ง เรียกได้ว่ากลุ่มบุญรักษากลายเป็น “ไอดอล” เรื่องการแบ่งปันให้กับรุ่นน้อง
“เห็นเขายิ้มแล้วเราก็มีความสุขตาม สุขแบบสองต่อ ต่อที่หนึ่งสิ่งของที่เราเอาไปบริจาคก็นำไปขาย ส่งต่อให้คนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ต่อที่สองก็คือเงินที่ได้มาก็จะเอาไปเป็นทุนการศึกษาให้กับพี่ๆ เพื่อนๆที่เขาขาดโอกาสทางการศึกษา” น้องแพนเค้ก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ทำไมถึงเลือกมีส่วนร่วมกับร้านปันกัน ?
ย้อนกลับไปราวปี 2554 ด้วยความที่ครูฝนชอบทำบุญ ชอบทำงานจิตอาสาเป็นทุนเดิม วันหนึ่งมีโอกาสร่วมก่อตั้งโรงเรียน คำถามที่เกิดขึ้นคือจะทำอย่างไรให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ประจวบเหมาะเธอได้แรงบันดาลใจจากที่ปรึกษาโรงเรียน ซึ่งจะขอเรียกว่า “ตากำนันแดง” ผู้เป็นแรงผลักดันชั้นดี
“เราอยากให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการแบ่งปัน การเสียสละ ตอนนี้เด็กๆ ยังไม่มีรายได้ แต่เขามีของใช้ในบ้านที่ยังอยู่ในสภาพดี เราเลยเริ่มอธิบายให้เด็กฟัง จากการที่เราเอาของใช้ไปบริจาคและเป็นผู้ซื้อที่ร้านปันกัน ถ่ายรูปแล้วส่งมาให้เด็กและผู้ปกครองดูเพื่อให้เห็นภาพ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี”
ครูฝน- ดร.พิมพิชญา จงเกียรติกาญจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน
กว่า 10 ปี ที่เครือโรงเรียนพัฒนาปัญญา คือ โรงเรียนทวิพัฒน์และโรงเรียนอนุบาลพร้อมพัฒน์ จังหวัดอุดรธานี มีส่วนร่วมกับร้านปันกันเพื่อระดมสิ่งของ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิด “มูลนิธิปัญญพัฒน์” เพื่อรับบริจาคสิ่งของก่อนส่งต่อให้ร้านปันกัน กลายเป็นภาพจำอย่างหนึ่งที่ชัดเจนถึงความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม
ทุกวันนี้เครือโรงเรียนพัฒนาปัญญาเป็นศูนย์กลางการแบ่งปันที่เข้มแข็ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่นี่เป็นตัวอย่างของการลุกขึ้นทำบางสิ่งอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความยั่งยืน เกิดสังคมของการแบ่งปันได้จริง และยังได้ปลูกฝังเด็กๆ ให้รู้จักมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม เหมือนที่พวกเขาเชื่อว่า
“หัวใจที่เต้นเพื่อคนอื่นดีกว่าหัวใจที่เต้นเพื่อตัวเอง”
ขอบคุณภาพประกอบจากโรงเรียนพัฒนาปัญญา จ.อุดรธานี
องค์กรใดที่สนใจร่วมกิจกรรม หรือ บริจาคสิ่งของสภาพดี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02 301 1029
E-mail : suvichaya.p@ybf.premier.co.th หรือ Line : @pankansociety
ติดตามข้อมูลข่าว “ร้านปันกัน”เพิ่มเติมที่ Facebook : Pankan – A society of sharing และ www.pankansociety.com/